รับฟังรายงาน การติดตามความอยู่รอดของผู้ประกอบการภายใต้โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ปีงบประมาณ 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
วันนี้ ผู้เขียนได้รับเชิญจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ร่วมรับฟังผลการวิจัยการติดตามความอยู่รอดผู้ประกอบการ ภายใต้โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ปี 2557 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดย บริษัท เมธัส รีเสิร์ซ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาครั้งนี้ มีการรายงานผลซึ่งได้แยกนำเสนอเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นผลการศึกษาการติดตามความอยู่รอดของธุรกิจจากผู้ที่เคยเข้าอบรมในโครงการ NEC ในปี 2554 คือ ติดตามความอยู่รอด 3 ปี เพื่อเน้นย้ำความต่อเนื่อง อีก 1 ส่วน คือ เป็นการติดตามความก้าวหน้าของผู้ผ่านโครงการ NEC ปี 2557 เหตุผลที่ มทร.พระนคร ได้รับเชิญมาร่วมฟัง เนื่องจากมหาวิทยาลัยของเราโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553-2555 ในหลักสูตรอาหารและขนมไทย หลักสูตรการจัดดอกไม้ และหลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการ นั่นเอง เนื้อหาสาระของการติดตามผล เท่าที่สังเกตจากผู้นำเสนอ พบว่า ได้มีการใช้ข้อมูลทุติยภูมิ คือ ใบสมัคร การรายงานผลการดำเนินงานผ่านระบบของแต่ละโครงการ ผสมผสานกับการติดตามผลเพิ่มเติมที่เป็นข้อมูลปฐมภูมิ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติค่าร้อยละและค่าเฉลี่ยเป็นหลัก แยกผู้ตอบเป็น 4 กลุ่ม รวมทั้งข้อมูลประมาณการมูลค่าการลงทุน ความคุ้มค่าของโครงการ จำนวนการจ้างงาน ปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด การนำผลจากการอบรมไปใช้ประโยชน์ ความพึงพอใจ และ ความช่วยเหลือที่ต้องการเพิ่มเติมจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยใช้กลุ่มตัวอย่างในปี 2554 จำนวน 601 คน จากจำนวนผู้ร่วมโครงการ 1,678 คน คิดเป็นร้อยละ 35.76 โดยในจำนวนเหล่านี้ พบว่า มีผู้ประกอบการร้อยละ 80.37 เป็นธุรกิจที่อยู่รอดคือดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2557 แต่พิจารณาข้อมูลแล้วก็ยังไม่สอดคล้องกับเอกสารที่ได้นำเสนอเท่าไรนัก อาจเป็นเพราะความเร่งรีบในการจัดกระทำข้อมูลใน Power Point ก็เป็นได้
ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมฟังการนำเสนอฯในครั้งนี้ ทำให้ได้แนวคิดในการทำงานวิจัยสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการติดตามประเมินผลของงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ดำเนินการ อาทิ การติดตามผลความสำเร็จของบัณฑิตของมหาวิทยาลัย ที่ไม่เพียงเฉพาะการติดตามผลเมื่อจบการศึกษาภายใน 1 ปี หรือไม่เพียงแต่การติดตามผลความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต แต่เป็นการติดตามในระยะยาวที่ประเมินถึงความสำเร็จในการทำงานของบัณฑิตด้วย และ หัวข้อการติดตามผลความสำเร็จของผู้รับบริการหรือผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยผ่านทางโครงการ/กิจกรรมการให้บริการวิชาการแก่สังคมทั้งจากงบประมาณภายใน และ ภายนอก ในเชิงลึก…