บันทึกเรื่องเล่า : งานอาสาสมัครในสถาบันการศึกษา วันที่ 28 เมษายน 2557
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯในวันนี้ เริ่มต้นขึ้นในเวลา 08.30 น. ขณะที่อยู่บนรถตู้ของมหาวิทยาลัยที่ไปส่ง ณ สถาบันคลังสมองของชาติ ก็เฝ้ากังวลว่าจะเดินทางไปทันการประชุมฯหรือไม่ เพราะเช้าวันนี้ท่าทางการจราจรจะติดขัดไม่เบา พวกเราไปถึงหลังเวลาเล็กน้อย วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้พบกับการแลกเปบี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้ตั้ง 2 ทีม คือ ทีมของบ้านชีวีศิลป์มอดินแดง และ ทีมของศูนย์อาสาสมัครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การบรรยายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อแรก เป็นเรื่อง “นวัตกรรมการบูรณาการการแพทย์กับกระบวนการศิลปะเพื่อการเยียวยาจิตใจและ สร้างเสริมศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่มารับรักษา” ชื่อเรื่องยาวนิดหน่อยค่ะ แต่ฟังแล้วภาคภูมิใจแทนคนไทยที่มีกลุ่มบุคลคลทั้งผู้บริหาร บุคลากร และ นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีจิตใจที่ขาวสะอาด บริสุทธิ์ ให้การเยียวยาแก่ผู้ป่วยโดยหวังให้เกิดรอยยิ้มทั้งแก่ผู้รับการเยียวยา และผู้ให้การเยียวยา โดยเฉพาะตัวนักศึกษาเอง อ้อ..ลืมบอกไปว่ากลุ่มวิทยากรที่มาบรรยายมี 2 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภพ โกศลารักษ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ คุณเศกสันต์ วิชัยพล ผู้จัดการบ้านชีวีศิลป์มอดินแดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น การบรรยายภายใต้สโลแกน “บ้านชีวีศิลป์มอดินแดง แหล่งรวมจิตอาสา เพื่อเยียวยาเด็กป่วยเรื้อรัง” ทำให้ทุกคนได้ทราบว่า บ้านชีวีศิลป์ นี้ เป็นหน่วยงานในกำกับของ ม.ขอนแก่น ดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ซึ่งก็มีอายุย่างเข้าปีที่ 4 การดำเนินงาน มีจิตอาสากลุ่มต่างๆเข้าร่วมทำงานกับเด็กป่วยเรื้อรังนี้อย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรม ร้องเพลง เล่นดนตรี ศิลปะละครเพื่อการศึกษา ละครหุ่นเงา ฯลฯ หลายๆคนรวมทั้งดิฉันสงสัยว่า ทำไมกิจกรรมจึงค่อนไปทางศิลปะ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า เนื่องจากผู้จัดการจบมาจากสาขาทางศิลปะ แต่แท้จริงแล้ว กิจกรรมที่เหมาะสมทุกประเภทก็สามารถใช้เพื่อเยียวยาผู้ป่วยได้ และในขณะเดียวกัน กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาก็สามารถมีได้หลากหลายเช่นเดียวกัน กิจกรรมนี้ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้บริหารของ ม.ขอนแก่น เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยมของผู้อุทิศตนเพื่อทำงานในด้านนี้ หลังการบรรยายมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากมายรวมทั้งดิฉันด้วย
การพูดคุยในหัวข้อที่สอง เป็นเรื่อง “ศูนย์อาสาสมัครมหาวิทยาบัยธรรมศาสตร์กับสถานการณ์พิบัติภัยของไทย”. โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านเป็นคนพูดคุยสนุก มีการยกตัวอย่างและเป็นการสนทนาเชิงคำถาม และให้แสดงความคิดเห็น ทำให้ได้รับความรู้ที่ผสมผสานระหว่างข้อมูลในการทำงานที่ศูนย์ฯกับเหตุการณ์ บ้านเมืองและเหตุการณ์ในต่างประเทศ ศูนย์อาสาสมัครฯเริ่มดำเนินการในปี 2547 หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ได้รับการร้องขอจากรัฐบาลจึงทำให้เกิดการจัดตั้งทันที วิทยากรเคยได้รับคำเชิญจากประเทศญี่ปุ่นให้บรรยายเรื่อง “ประสบการณ์การรับมือสึนามิในการจัดตั้งศูนย์” และท่านได้ให้ข้อมูลว่ามี ม.ในญี่ปุ่นประมาณ 40 ม.ที่มีศูนย์อาสาหรือ Volunteer Centre ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศของเขาประสบภัยพิบัติค่อนข้างบ่อยด้วย ก็เลยทำให้ทราบอีกว่า ศูนย์อาสาสมัครใน ม.สำหรับประเทศไทยมีอยู่เพียง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ปัจจุบัน มธ.มีการเปิดรับตรงของโครงการจิตอาสาและประชาธิปไตยด้วย โดยรับร้อยละ 1 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ประมาณปีละ 50 คน มีการเรียนการสอนในวิชา TU 100 พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่ช่วยหล่อหลอมให้นักศึกษาทำงานเพื่อช่วยให้ สังคม/ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ ยกตัวอย่างเช่น งานในพื้นที่ ม.สนับสนุน 2,000 บาท/โครงการ พื้นที่นอก ม.สนับสนุน 4,000 บาท/โครงการ ทำงานภายใต้สโลแกน “พึ่งตนเอง ไม่รอรัฐบาล บริหารแนวนอน”
ช่วงบ่าย ทางสถาบันคลังสมองฯเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นในเรื่อง เกี่ยวกับ 1)การสร้างพื้นที่เรียนรู้งานอาสาสมัครในสถานศึกษา 2)การแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานอาสาสมัคร ซึ่งผู้ร่วมประชุมได้ให้ความสนใจอย่างมาก ทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานอาสาสมัคร ตบท้ายด้วยการเชิญชวนให้สมาชิกทุกคนเข้าร่วมงาน มหกรรมจิตอาสา ในสถาบันการศึกษา (Education &Volunteer Expo 2013-2014 ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2557 ณ มธ.ศูนย์รังสิต ค่ะ..แล้วพบกันนะคะ…^__^