การบูรณาการการจัดการความรู้สู่ชุมชนและประชาคมอาเซียน : กรณีศึกษาป่านศรนารายณ์
กลุ่มป่านศรนารายณ์ สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ประสบปัญหาการมีเศษป่านสดที่เหลือจากการแยกเส้นใยและเศษป่านส่วนที่แห้ง เหลือจากการสางเส้นใย ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนเส้นใยป่านที่ถักเปียเมื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มีความแข็งกระด้าง ระคายเคืองต่อเสื้อผ้าและร่างกายผู้ใช้ รวมทั้งปัญหาเรื่องเทคนิคการย้อมเส้นใยที่ใช้แบบดั้งเดิมมานาน ไม่มีความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ ในการศึกษาข้อมูลพื้นที่ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้นำองค์กรท้องถิ่นและมหาวิทยาลัย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยบูรณาการผลของงานวิจัยและงานบริการวิชาการเข้าด้วยกันอย่างลงตัวตามวงจร คุณภาพ PDCA คือขั้นวางแผนการดำเนินงาน ขั้นลงมือปฏิบัติ ขั้นตรวจสอบ และขั้นนำไปใช้ ทำให้เกิดผลงานของกระบวนการย้อมป่านศรนารายณ์แบบสีรุ้ง มีการสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อลดความกระด้างของเส้นใย และมีการพัฒนาเศษป่านเหลือใช้เป็นกระดาษและบรรจุภัณฑ์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอาจารย์ ของมหาวิทยาลัย นักศึกษา และชุมชน ช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการลดมลภาวะด้านกลิ่น ส่งผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จเกิดจากการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ ความร่วมมือในการทำงานแบบบูรณาการระหว่างชุมชน ผู้นำองค์กรท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญของชุมชนด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพของบุคลากรในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีการขยายผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบของการต่อยอดการศึกษา การบริการสู่สาธารณะ และปรับใช้กับหน่วยงานอื่น การถอดบทเรียนในลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาการจัดการความรู้ดังกล่าวสู่ประเทศในประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของผู้มีส่วนร่วมในลักษณะไตรภาคี เป็นความสำเร็จของเศรษฐกิจชุมชนและคุณภาพชีวิตในภาพรวม
โดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑามาศ พีรพัชระ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
สถาบันวิจัยและพัฒนา
เบอร์โทรศัพท์ 0 2282 9009-15 ต่อ 6099 เบอร์มือถือ 08 9204 3158
เบอร์โทรสาร 0 2282 0423
e-mail address chutamas.p@rmutp.ac.th, yinn.chutamas@gmail.com
View (166)