ทรัพย์สินทางปัญญา

คลิกเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์

 

 

 ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน

    กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ 9 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
    1. งานวรรณกรรม  ( หนังสือ  จุลสาร  สิ่งพิมพ์  คำปราศรัย  โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ )
    2. งานนาฎกรรม  ( ท่ารำ  ท่าเต้น ฯลฯ ) 
    3. งานศิลปกรรม  ( จิตรกรรม  ประติมากรรม  ภาพพิมพ์  ภาพถ่าย  ศิลปประยุกต์ ฯลฯ )
    4. งานดนตรีกรรม ( ทำนอง  ทำนองและเนื้อร้อง ฯลฯ )
    5. งานสิ่งบันทึกเสียง ( เทป  ซีดี ) 
    6. งานโสตทัศนวัสดุ  ( วีซีดี  ดีวีดี  ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง )
    7. งานภาพยนตร์ 
    8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ 
    9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ

 วิธีดำเนินการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์    

 1. การกรอกข้อมูลและระบุรายละเอียดต่างๆ                
(1)  ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์  ให้ระบุชื่อสัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล (แล้วแต่กรณี)  และที่อยู่ของเจ้าของลิขสิทธิ์
(2)  ชื่อตัวแทน  กรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการมอบอำนาจให้กับผู้รับมอบอำนาจมาดำเนินการใด ๆ  เกี่ยวกับการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์และระบุถึงขอบเขตอำนาจของผู้รับมอบอำนาจ โดยให้ระบุ ชื่อ สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล (แล้วแต่กรณี)  และที่อยู่ของผู้รับมอบอำนาจ
(3)  สถานที่ติดต่อในประเทศไทย  ให้ระบุสถานที่และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อเจ้าของสิทธิหรือตัวแทน  เพื่อสะดวกในการติดตามเอกสารและผลงาน  กรณีเอกสารและผลงานมีความไม่ครบถ้วน
(4)  ชื่อผู้สร้างสรรค์หรือนามแฝง  ให้ระบุชื่อ สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือนิติบุคคล  ที่อยู่ผู้สร้างสรรค์ นามแฝง กรณีผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตแล้วให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต
(5)  ชื่อผู้สร้างสรรค์ร่วมหรือนามแฝง  ให้ระบุชื่อ  สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล  ที่อยู่ของผู้สร้างสรรค์หรือนามแฝง  กรณีมีผู้สร้างสรรค์ร่วมมากกว่า 1 คน  ให้ระบุในช่องนี้  กรณีผู้สร้างสรรค์ร่วมเป็นนิติบุคคล  ให้ระบุ  วัน  เดือน  ปี  ที่จดทะเบียนนิติบุคคล  และกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมเสียชีวิตแล้ว  ให้ระบุ  วัน  เดือน  ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต
(6)  ชื่อผลงาน  ให้ระบุชื่อผลงานที่สะกดถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการระบุในหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูล
(7)  ประเภทของงาน  ให้ระบุประเภทของงานและลักษณะงานที่ประสงค์จะยื่นแจ้งข้อมูลพร้อมระบุผลงานที่ยื่นประกอบคำขอ  เช่น   หนังสือ 1 เล่ม หรือแผ่นซีดี  1  แผ่น  ฯลฯ  เป็นต้น
(8)  ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์  ให้ระบุว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยวิธีใด เช่น เป็นผู้สร้างสรรค์  ผู้ว่าจ้าง  ผู้รับจ้าง  นายจ้าง  หรือผู้รับโอนลิขสิทธิ์  ฯลฯ  เป็นต้น
(9)  ลักษณะการสร้างสรรค์  ให้ระบุว่า  เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นเองทั้งหมด  สร้างสรรค์บางส่วน   โดยระบุว่ามีส่วนใดบ้าง  หรือ  เป็นกรณีอื่นๆ  เช่น  เป็นผู้รวบรวมผลงาน  หรือผู้ดัดแปลงผลงาน  ฯลฯ
(10)  สถานที่สร้างสรรค์  ให้ระบุว่า  การสร้างสรรค์ผลงานกระทำในประเทศใด
(11)  ปีที่สร้างสรรค์  ให้ระบุปีที่ทำการสร้างสรรค์ผลงาน
           (12)  การโฆษณางาน  ให้ระบุ  วัน  เดือน  ปี  และประเทศที่มีการโฆษณาครั้งแรก  โดยการทำสำเนางานออกจำหน่ายโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์และสำเนางานมีจำนวนมากพอสมควร  กรณียังไม่มีการโฆษณางานให้ระบุโดยทำเครื่องหมายในช่องยังไม่ได้โฆษณา

           (13)  การแจ้ง/จดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ  ให้ระบุว่าเคยแจ้ง/จดทะเบียนลิขสิทธิ์ ในต่างประเทศหรือไม่  โดยให้ทำเครื่องหมายลงในช่องการแจ้งหรือจดทะเบียน  (แล้วแต่กรณี)
(14) การอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์  ให้ระบุเครื่องหมายลงในช่องว่าเคยอนุญาต/โอนลิขสิทธิ์หรือไม่  เช่น  หากไม่เคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์  ให้ทำเครื่องหมายในช่องไม่เคยอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์หรือโอนลิขสิทธิ์ในงานของตน  หากเคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์ ให้ระบุว่าอนุญาตให้ใช้หรือโอนลิขสิทธิ์แก่ใคร เมื่อใด เป็นการอนุญาตโอนลิขสิทธิ์โดยให้สิทธิทั้งหมดหรือบางส่วน และมีระยะเวลาในการอนุญาต/โอนลิขสิทธิ์เท่าใด
(15) การเผยแพร่ข้อมูลลิขสิทธิ์  ให้ระบุว่าอนุญาตให้คนอื่นตรวจดูเอกสารในแฟ้มคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์และผลงานหรือไม่
(16) การลงนามในคำขอให้เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนเป็นผู้ลงนาม

    2. ใบต่อท้ายคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์  ในกรณีที่ข้อมูลที่กรอกในคำขอ (ลข.01) มีจำนวนมาก และผู้ขอไม่อาจกรอกข้อมูลได้ครบถ้วนในแต่ละข้อ เช่น ในกรณีที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์  ตัวแทน ผู้สร้างสรรค์ร่วมมากกว่า 1 คน ผู้ขอสามารถระบุข้อมูลเพิ่มเติมได้ในใบต่อท้ายฯ ผู้ลงนามในใบต่อท้าย คือ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทน

    3. แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ  ให้ระบุวิธีการและขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อหรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ผู้ลงนามในแบบแสดงรายละเอียดการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทน

    4. หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์  ให้ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่อยู่ ทะเบียนนิติบุคคล(ถ้ามี)  ประเภทของงานลิขสิทธิ์  ชื่อผลงาน และระบุวันที่ยื่นคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์  ผู้ลงนามในหนังสือรับรองความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์  เท่านั้น

    5. ผลงานลิขสิทธิ์ที่ใช้ยื่นประกอบคำขอ                

     – วรรณกรรม  เช่น  หนังสือ ชุดเอกสาร แผ่นซีดี ฯลฯ              

     – โปรแกรมคอมพิวเตอร์  เช่น  สำเนา Source Code จำนวน 10 หน้าแรกและ 10 หน้า สุดท้าย หรือส่งซีดีหรือแผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และในกรณีที่มี Source Code น้อยกว่า 50 หน้า ให้ส่งแผ่นซีดีหรือแผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์อาจผนึกและลงลายมือชื่อกำกับด้วยก็ได้               

     – นาฏกรรม  เช่น  แผ่นซีดี ภาพการแสดงพร้อมบรรยายประกอบท่าทางทุกขั้นตอน ฯลฯ
– ศิลปกรรม  เช่น  ภาพถ่ายผลงาน  ภาพร่างผลงาน  ภาพพิมพ์เขียว
– สิ่งบันทึกเสียง  เช่น  แผ่นซีดี  เทปเพลง ฯลฯ
– โสตทัศนวัสดุ  เช่น  แผ่นซีดี  แผ่นดีวีดี ฯลฯ
– ภาพยนตร์  เช่น  แผ่นซีดี  แผ่นดีวีดี ฯลฯ
– ดนตรีกรรม  เช่น  เนื้อเพลง  แผ่นซีดี  เทปเพลง  โน้ตเพลง  ฯลฯ
– แพร่เสียงแพร่ภาพ  เช่น  แผ่นวีซีดี  แผ่นซีดี ฯลฯ
– งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ เช่น ภาพถ่ายของผลงาน ฯลฯ 

    6. เอกสารที่ใช้ประกอบการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์
1.  สำเนาบัตรประชาชน  พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา)
2.  สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของเจ้าของลิขสิทธิ์ (กรณีเป็นนิติบุคคล)
3. หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ  พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีมีการมอบอำนาจ)
4. หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาลใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรฯ รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำขอ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
5.  มูลนิธิใช้สำเนาหนังสือการจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

 

 

สิทธิบัตร (Patent) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสิทธิพิเศษ ที่ให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ มีสิทธิที่จะผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การประดิษฐ์ (Invention) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับ ลักษณะองค์ประกอบ โครงสร้างหรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตการรักษา หรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น กลไกของเครื่องยนต์ ,ยารักษาโรค, ,วิธีการในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป เป็นต้น 

 

อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์จะมีลักษณะคล้ายกันกับการประดิษฐ์ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก หรือเป็นการประดิษฐ์คิดค้นเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น การขอรับความคุ้มครอง

สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT

PCT ย่อมาจาก Patent Cooperation Treaty เป็นความตกลงระหว่างประเทศสำหรับการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศที่เป็นสมาชิก เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระของผู้ขอรับสิทธิบัตร แทนที่จะต้องไปยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศต่าง ๆ แต่ละประเทศที่ผู้ขอประสงค์จะขอรับความคุ้มครอง โดยสามารถที่จะยื่นคำขอที่สำนักงานสิทธิบัตรภายในประเทศ ของตน สำนักงานสิทธิบัตรก็จะส่งคำขอไปดำเนินการตามขั้นตอนของระบบ PCTที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)

ระบบ PCT นี้ไม่ได้เป็นระบบการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่จะส่งผลให้ประเทศที่เป็นสมาชิกต้องรับจดทะเบียนตามไปด้วย เนื่องจาก ระบบ PCT จะมีการดำเนินการในขั้นตอนต้น ๆ ของการขอรับสิทธิบัตรเท่านั้น ไม่มีการรับจดทะเบียนแต่อย่างใด การรับจดทะเบียนสิทธิบัตร PCT เป็นอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศที่ผู้ขอประสงค์จะขอความคุ้มครอง ซึ่งจะมีการตรวจสอบตามขั้นตอนและเงื่อนไขของกฎหมายภายในประเทศนั้น ๆ ก่อนรับจดทะเบียนสิทธิบัตรต่อไป ซึ่งประเทศไทยสมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 ถือเป็นสมาชิกลำดับที่ 142 

ที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา

View (962)

About the Author