การวิจัยเพื่อมุ่งสู่การตีพิมพ์หรือพัฒนาประเทศ : ประเด็นที่ท้าทาย

การวิจัยเพื่อมุ่งสู่การตีพิมพ์หรือพัฒนาประเทศ : ประเด็นที่ท้าทาย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑามาศ พีรพีชระ
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ได้เข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจงนโยบายและแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2558 สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐนอกกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 70 แห่ง ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยมี รศ.นายแพทย์กำจร ตติยกวี เลขาธิการสำนักงานกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดประชุม ซึ่งท่านได้พูดคุยในหลายประเด็นเกี่ยวกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโดยมีส่วนสำคัญที่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะราชภัฏ ราชมงคล และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ต้องให้ความสนใจอย่างมากๆ
ท่านได้กล่าวว่า งบประมาณวิจัยเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เริ่มต้นในปี 2553 ด้วยงบประมาณที่อนุมัติในหลักการจำนวน 5,000 ล้านบาท มีการสนับสนุนจนถึงปัจจุบันคือ ปี 2558 รวมแล้วเป็น 4,600 บาท ซึ่งเป้าหมายเดิมกำหนดการใช้เงินเป็นเวลา 3 ปี แต่จะกลายเป็น 4-5 ปี ซึ่งน่าจะครบถ้วนในปีหน้า
การขอรับการจัดสรรงบประมาณใน Phase ต่อไปอาจแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) การของบประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ยาก 2) มีการประเมินมรรคผลของงานวิจัยเป็นตัวกำหนดการสนับสนุนงบประมาณ โดยที่ท่านได้กล่าวว่า “กลุ่มราชภัฏ และ ราชมงคล เป็นกลุ่มที่ผลิตงานวิจัยที่ได้มรรคผล ไม่ใช่ Publication” ในขณะที่ สกอ.เน้นการพัฒนาท้องถิ่น
แต่ปัจจุบัน การทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยกลับสวนทางกัน มหาวิทยาลัยเน้นการวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัยในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ แต่งานวิจัยต้องเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่าทำงานวิจัยที่ถนัด แต่ควรทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สังคม ชุมชน มีการพูดถึงผลงานวิชาการรับใช้สังคม ก็ดำเนินการไปได้ในระดับหนึ่ง
คำพูดที่กินใจมากๆเลยคือ ท่านกล่าวว่า “อย่าทำงานวิจัยที่ถนัด ควรทำงานวิจัยที่พัฒนาประเทศ อย่ากังวลว่าทุกงานวิจัยต้องมีความรู้ใหม่ อาจเป็นความรู้เก่า แต่พัฒนาใหม่” ตรงใจผู้เขียนเลย เพราะมีความมั่นใจว่า ราชภัฏ และ ราชมงคล มีจุดเด่นมากๆในเรื่องการทำงานวิจัยเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งต่อชุมชน สังคม และ ภาคอุตสาหกรรม
หากเป็นเช่นนี้แล้ว มหาวิทยาลัยเเทคโนโลยีราชมงคลของพวกเราจะเดินไปในแนวทางไหน ในขณะที่ สกอ.มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยนำผลงานวิจัยไปพัฒนาสังคมเป็นสำคัญกว่าการมองเรื่อง Publication หรือ การมุ่งสู่ World Class University แต่ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยของเราก็ต้องใช้เกณฑ์การวัดคุณภาพด้วยฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยวิจัยเช่นเดียวกัน รวมทั้งเรื่องของการประเมินด้วยเกณฑ์ สกอ. และ สมศ. ดังนั้น ประเด็นที่ท้าทายคือ การกำหนดจุดยืนของเรานั่นเอง ว่า เราจะยืนอยู่ที่ตรงไหนจึงจะเป็นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ มทร.พระนคร…

รูปภาพ 1 รูปภาพ 2